ประชากรในตำบลบางกุ้ง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ส่วนใหญ่มีเชื้อสายลาวโซ่ง หรือเชื้อสายถิ่นฐานเดิมในแคว้นสิบสองจุไทตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และแถบตอนใต้ของประเทศจีน มีศิลปวัฒนธรรมประเพณีเป็นของตนเอง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน
ชาว ไทยทรงดำได้ถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ปี พ.ศ. ๒๓๒๒ สมัยพระเจ้าตากสินมหาราช (กรุงธนบุรี) ครอบครัวชาวไทยทรงดำ ถูกกวาดต้อนนำมาไว้ที่บ้านหนองปรง หนองเลา ท่าแร้ง จังหวัดเพชรบุรี แต่ด้วยนิสัยที่ชอบที่ดอน จึงอพยพมาอยู่ที่ เขาย้อย และบางส่วนอพยพกลับถิ่นเดิม จึงเป็นที่มาของชาวไทยทรงดำในจังหวัดต่าง ๆ
สำหรับ ลาวโซ่งไทยทรงดำ หรือไทดำตำบลบางกุ้งนั้น ได้อพยพมาอยู่ที่ตำบลบางกุ้งนี้ผ่านมา ๓ ช่วงอายุคนแล้ว ซึ่งอายุคนรุ่นที่ ๔ มีอายุประมาณ ๘๐ ปีขึ้นไป คาดว่าจะอยู่ในช่วงปี พ.ศ. ๒๓๔๘
แต่เดิมลาวโซ่งหรือไทยทรงดำ ได้อพยพมาอยู่เพียง ๒ กองเกวียน โดยการนำของนายกองอั้วกับนายกองอ้อม เดินทางมาจากเขาย้อย เพชรบุรี เพื่อจะเดินทางอพยพกลับถิ่นเดิม จึงเดินทางมุ่งสู่ทางเหนือ ประกอบกับการเดินทางที่ลำบากไม่ชำนาญทาง
เหน็ด เหนื่อยเมื่อยล้าเห็นทำเลบริเวณลุ่มน้ำคล้ายคลึงกับถิ่นเดิม และบริเวณนี้เป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะ กุ้ง ปลา ตามรอยเท้าสัตว์ป่า จะมีกุ้งใหญ่อยู่มากมาย จึงเห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะสม จึงยึดทำเลสองฝั่งลำน้ำ คือฝั่งตะวันออกเป็นของนายกองอั๊ว มีต้นมะขามเรียง
ต่อ มามีกฏหมายการปกครองท้องถิ่น ให้มีการตั้งตำบลขึ้นและมีกำนันปกครอง จึงตั้งเป็นตำบลบางกุ้ง มีอาณาเขตของตำบลในสมัยนั้น ทิศเหนือติดกับบ้านเขาดินท่่าว้า ทิศใต้ติดกับบ้านศาลาขาว ทิศตะวันออกติดกับป่าสำดำ ทิศตะวันตกติดกับบ้านดอนมะขาม มีกำนันปกครองตั้งแต่ตั้งตำบลบางกุ้งถึงปัจจุบัน ๑๓ คน และปัจจุบันคือกำนันลำจวน อ้อมทอง
ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลขึ้น เรียกว่าองค์การบริหารส่วนตำบลบางกุ้ง มีกำนันพงษ์ศิริ ศิริพรรณาภิรัตน์ เป็นประธานกรรมการบริหาร และผู้ใหญ่บ้านลำจวน อ้อมทองในสมัยนั้น ต่อมาได้มีการยกฐานะให้เปลี่ยนชื่อจากประธานกรรมการบริหาร เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางกุ้ง
ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้ยกฐานะจากองค์การบริหารส่วนตำบลบางกุ้ง เป็นเทศบาลตำบลบางกุ้ง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑
ประชากรส่วนใหญ่ร้อยละ ๙๕ เป็นชาวไทยทรงดำ ประเพณีที่สำคัญประเพณีหนึ่งของชาวลาวโซ่ง คือ ประเพณีไทยทรงดำ ซึ่งประเพณีนี้ได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟูขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยเทศบาลตำบลบางกุ้ง และนับจากนั้นเป็นต้นมาก็ได้มีการจัดเป็นประเพณีไทยทรงดำขึ้นทุกปี
โดยกำหนดจัดงานไทยทรงดำขึ้นในวันที่ ๘ เมษายนของทุกปี ภายในงานจะประกอบด้วย ชาวไทยทรงดำจากทั่วประเทศร่วมงานประเพณี ด้วยการแต่งกายในชุดไทยทรงดำ มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อันเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี อันดีงามให้คงอยู่สืบไป